กินให้ดีแบบ Happy University


กินให้ดีแบบ Happy University

วันนี้คุณกินอาหารครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เพียงพอแล้วหรือยัง  เพราะมันจุดเริ่มต้นง่าย ๆ ของความยั่งยืนในการมี Happy Body


ความรู้ไม่สู้ลงมือเปลี่ยน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับโรงพยาบาลต่าง ๆ รณรงค์ให้คนมีพฤติกรรมการบริโภคที่ดีต่อสุขภาวะมาอย่างต่อเนื่อง ขนาดองค์การสหประชาชาติยังประกาศให้ปี 2564 เป็นปีส่งเสริมการกินผักผลไม้สากล (International Year of Fruits and Vegetables, 2021) ด้วย

 

ถ้ารู้ว่ากินดีแล้วจะมีสุขภาพที่ดีตามมาก็ต้องลงมือทำสิ ถึงจะเปลี่ยนได้อย่างยั่งยืน  อย่างที่การวิจัยเรื่อง “สภาพแวดล้อมทางอาหารภายในมหาวิทยาลัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการบริโภคเพื่อสุขภาพของนักศึกษาไทย” ที่ทำขึ้นเมื่อปี 2561 โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ชี้ว่า ควรใช้แนวทางการส่งเสริมสุขภาพและแนวทางการคุ้มครองสุขภาพไปพร้อมกัน โดยเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเพื่อช่วยให้เราหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และสามารถเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น

 

ใครคือผู้นำเทรนด์กินดีแบบมีสุขภาวะ

กลุ่มวัยรุ่นตอนปลาย (อายุ 18-21 ปี) นี่ล่ะ คือ ฮีโร่ เพราะเป็นช่วงอายุที่เรามักเริ่มทำพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น ไม่กินอาหารเช้า ไปดริ้งค์กับเพื่อน หมูกระทะต้องมา ฟาสต์ฟู้ดต้องไม่พลาด เป็นต้น  และเพราะวัยนี้กำลังก้าวข้ามจากความเป็นเด็กสู่ผู้ใหญ่ มีการพัฒนาทางกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคมมาก ถ้าปลูกฝังพฤติกรรมที่ถูกต้องในช่วงนี้ โอกาสที่จะมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เหมาะสมตลอดชีวิตจะสูงขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพและโรคเรื้อรังได้

 

พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ถูกต้องเป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังและย้ำเตือนกันเรื่อย ๆ  Happy Body จึงเป็นหนึ่งในความสุขพื้นฐานที่โครงการ Happy University ให้ความสำคัญ  จากการดำเนินการของ Happy University อย่างต่อเนื่อง เราเริ่มเห็นว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งมีโครงการที่น่าสนใจที่จะช่วยกระตุกให้บุคลากร นิสิตนักศึกษา คิดก่อนสั่ง คิดก่อนกินอาหารกันแล้ว

 

 

ส่องโครงการกินดีในรั้วมหาวิทยาลัย

Happy University ขอพาขึ้นเหนือกันก่อน ไปดูโครงการน่าสนใจของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่หนึ่งในภาคีของ Happy University ที่ได้จัดทำโครงการอาหารสุขภาพและโภชนาการสมดุลในยุคดิจิทัลของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่อาศัยศักยภาพของมหาวิทยาลัยในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาแอปพลิเคชั่น “กินในมอ (Kin Nai Mor) ขึ้น

 

“กินในมอ” เก็บข้อมูลจากร้านอาหารในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าแต่ละเมนูให้พลังงานและสารอาหารอะไร  เก็บข้อมูลน้ำหนักและส่วนสูงของผู้ใช้เพื่อคำนวณปริมาณพลังงานและสารอาหารที่ควรได้รับ พร้อมทั้งแนะนำว่าควรกินอะไร  เมื่อไหร่ที่ได้รับน้ำตาล พลังงาน ไขมัน และโซเดียมมากเกินไป แอปนี้จะช่วยเตือนทันที กระตุกให้คนที่ใช้แอปนี้ระมัดระวังมากขึ้น ไม่ตามใจปาก และปรับพฤติกรรมการบริโภคของตนเอง  ในอนาคต แอปนี้จะช่วยวางแผนการบริโภคให้บุคลากรและนักศึกษา เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคที่เกิดจากการบริโภคเกินพอดี  ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้ร้านอาหารได้ปรับปรุงรายการอาหารที่มีประโยชน์และดีต่อสุขภาพมากขึ้น

 

นอกจากนี้ มีการจัดกิจกรรมอื่น ๆ เช่น Health Talk เชิญผู้รู้มาพูดคุยสารพันเรื่องสุขภาพเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี มีโครงการ University Zero% alcohol รณรงค์ให้ลดละเลิกเหล้า CMU3FFood, Fit, Fresh  จัดการบรรยายให้ความรู้เรื่องอาหาร ลดน้ำหนัก และแนะแนวการสร้างพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ดี สร้างสิ่งแวดล้อมที่จะนำไปสู่การมี Happy Body ต่อไป

 

ส่วนมหาวิทยาลัยภาคีอื่นหลายแห่งก็ให้ความสำคัญเรื่องการส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคที่ดีเช่นกัน  มีการดำเนินการทั้งในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการ หลายมหาวิทยาลัยมีแผนปรับปรุงโรงอาหารให้สะอาด ถูกสุขลักษณะ มีการพูดคุยกับร้านอาหารในสถาบันเพื่อส่งเสริมให้มีการจัดเมนูอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อสร้างสุขภาวะ  บางมหาวิทยาลัยแม้จะยังไม่ได้มีนโยบายออกมาอย่างชัดเจน แต่ผู้บริหารก็เห็นด้วยกับการส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ถูกสุขภาวะ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

 

Happy University หวังว่า เราจะได้เห็นโครงการดี ๆ ตามมาในอนาคต เพราะเราอยากเห็นชาวมหาวิทยาลัยมีความสุขในทุกมิติ และร่วมกันกระจายพลังแห่งความสุขออกไปเพื่อร่วมกันสร้างสังคมที่แข็งแรง

 

***************************************

อ้างอิง

  • ปนันดา จันสุกรี และวศิน แก้วชาญค้า. (2561).  สภาพแวดล้อมทางอาหารภายในมหาวิทยาลัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการบริโภคเพื่อสุขภาพของนักศึกษาไทย. (รายงานการวิจัย). กรุงเทพมหานคร: สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. CMU Happy and Healthy University. เข้าถึงได้จาก https://hr.oop.cmu.ac.th/submenu/docSubMenu/happyU/policy.pdf
  • Nopparat Narisaranon. (2564). จุดประกายพลเมืองอาหาร.
    เข้าถึงได้จาก https://www.thaihealth.or.th/Content/55423-จุดประกายพลังพลเมืองอาหาร.html