บทความ : กันยา-ไร้วันหยุด สุดพาเพลีย (จริงหรือ ?)

บทความ :  กันยา-ไร้วันหยุด สุดพาเพลีย (จริงหรือ ?)

เมื่อถึงเดือนกันยายน พนักงานกินเงินเดือน หรือ อาชีพที่ทำงานประจำจำนวนไม่น้อยจะทำหน้าละเหี่ยเพลียใจ  เพราะเป็นเดือนที่ไม่มีวันหยุดเลยถ้าไม่นับวันหยุดสุดสัปดาห์หรือต้องลางาน

การได้หยุดยาวหลายวัน เป็นสิ่งที่คนทำงานหลายคนรอคอยเพราะความเหน็ดเหนื่อยที่สะสมมาอย่างยาวนาน จะได้ผ่อนคลายลงไปได้บ้างในเวลาดังกล่าว 

ปัญหาในสังคมการทำงานที่หนักที่สุดอย่างหนึ่งในประเทศไทย คือเรื่อง สมดุลชีวิตกับการทำงาน หรือ Work-Life Balance

Work-Life Balance คือ การปรับสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว [1] เป็นเรื่องที่รณรงค์กันอย่างมากในยุคนี้ 

อย่างที่เคยกล่าวไปในบทความก่อนที่ผ่านมา ว่าคนไทยย่ำแย่มากในเรื่อง “สมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน”

ผลสำรวจคุณภาพชีวิตและความสุขคนวัยทำงานองค์กรในประเทศไทย ประจำปี 2565 โดย ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย  สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในมิติสมดุลชีวิตกับการทำงาน (Work-Life Balance) สนับสนุนสถานการณ์นี้ เพราะผลสำรวจมิตินี้ มีค่าเฉลี่ยเพียง ร้อยละ 45.5 เท่านั้น ซึ่งอยู่ในระดับ “Unhappy” หรือ ไม่มีความสุข ตามเกณฑ์การวัดค่าความสุข ของเครื่องมือ HAPPINOMETER [2]  

นอกจากนี้ ผลสำรวจดังกล่าวฯ ยังพบอีกว่า ร้อยละ28.2  ของกลุ่มคนวัยนี้ ทำงาน 9-10 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 14.5 ทำงาน 11-12 ชั่วโมงต่อวัน และ ร้อยละ 6.8 ทำงานมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าเฉลี่ยของผู้ที่ทำงานนานกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน สูงถึง ร้อยละ 49.5  ซึ่งนับว่าเป็นการทำงานที่หนักเกินกว่าชั่วโมงการทำงานโดยทั่วไป 

การทำงานหนักเกินไป นอกจากจะเสี่ยงเป็น Office Syndrome แล้ว อาจจะมีความเสี่ยงให้เกิดภาวะคาโรชิ (Karoshi Syndrome) [3] หรือ ภาวะทำงานหนักจนตาย อีกด้วย ส่งผลให้มีภาวะความดันโลหิต ระดับน้ำตาล และ ไขมันในเลือดสูง ซึ่งทำให้หลอดเลือดตีบตัน มีความเสี่ยงถึงตายได้

เราไม่ควรปล่อยผ่านสถานการณ์เช่นนี้ มาปรับสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานอย่างง่าย ๆ กัน [1]  

ให้ความสำคัญกับตัวเองให้มากขึ้น เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ 

เรียนรู้ที่จะปฏิเสธหรือต่อรองการขอให้เราทำงานเร่งด่วนนอกเวลางานจากหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานบ้าง 

เคารพเวลาพักผ่อนของตนเอง หยุดคิดเรื่องงาน ไม่นำงานกลับมาทำที่บ้าน

งานสำคัญมากก็จริงแต่ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าชีวิตของเราเอง อย่าใช้ชีวิตโดยทำงานหนักแล้วต้องเอาเงินที่ได้มารักษาตัวเองเพื่อที่จะได้หายแล้วไปทำงานหนักวนลูปต่อไปเรื่อย ๆ 

จงทำงานอย่างพอดีแล้วไปใช้ชีวิตและทำตามเป้าหมายในชีวิตของเราจะดียิ่งกว่า จะพบว่า เดือนกันยา หรือ เดือนไหน ๆ ก็ตาม แม้จะไร้วันหยุด ก็ไม่ทำให้สุดพาเพลีย 

อ้างอิง

[1] Work-Life Balance ปรับสมดุลชีวิตทำงาน.[อินเทอร์เน็ต].[สืบค้นเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566]. จาก: https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/work-life-balanceปรับสมดุลชีวิตทำงาน/

[2] Brochure การบริการวิชาการ สำรวจ วิเคราะห์ รายงานผล คุณภาพ ควาสุข ความพึงพอใจ ความผูกพัน องค์กรแห่งความสุข สมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน ภาวะผู้นำด้วย “เครื่องมือ HAPPINOMETER” ; 2566.

[3] สัญญาณเตือนภัย ทำงานหนักเกินไป…ระวังภาวะคาโรชิ !!!.[อินเทอร์เน็ต].[สืบค้นเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566]. จาก: https://www.synphaet.co.th/karoshi-syndrome/